ความเป็นมา


เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ งานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยผ่านทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาสุขภาวะสังคมไทย ให้มาดำเนินกิจกรรมแก้ไขและป้องกันปัญหาของเยาวชนที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะที่ ๑”

++++++++++++++++++++

.


ทีมงานพัฒนาเยาวชนอำเภอเดิมบางนางบวช ไปเข้าร่วมเสนอโครงการต่อผู้จัดการแผนงานฯ นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๔ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๑

การค้นหารูปแบบ/แนวทางการพัฒนา

งานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ได้เลือกพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล ป่าสะแกเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากขนาดของพื้นที่ไม่ใหญ่นัก ประกอบด้วย ๒ ตำบล ๑๐ หมู่บ้าน มีเยาวชนอายุ ๑๗-๒๕ ปีอยู่ประมาณ ๖๓๐ คน ผู้นำชุมชนสนใจปัญหาเยาวชน และชาวบ้านมีความกระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาต่างๆชุมชนเป็นอย่างดี


หัวหน้างานสุขภาพจิต เข้าร่วมประชุมชี้แจงสภาพปัญหาของเยาวชน ความรุนแรง และผลกระทบต่างๆ ได้แก่ปัญหายาเสพติด เพศสัมพันธุ์ก่อนวัยอันควร พฤติกรรมเกเรก้าวร้าว การฆ่าตัวตาย/ทำร้ายตนเอง เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือ ขอข้อเสนอแนะในการดำเนิน “โครงการสร้างเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น” ในพื้นที่

โครงการสร้างเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะที่ ๑

เมื่อ ๒๓-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ งานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ร่วมกับเครือข่ายสุขภาพจิต สสจ.สุพรรณบุรี จัด AIC กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ๒ ตำบล ๑๐ หมู่บ้าน เพื่อเปิดใจและค้นหาความต้องการของเยาวชนในพื้นที่เป้าหมาย ก็ได้ข้อค้นพบเป็นกิจกรรมพัฒนาเยาวชนดังนี้คือ

กิจกรรมพัฒนาที่เป็นความต้องการของเยาวชนมี 8 โครงการ ดังนี้

.

๑. การประหยัดและอดออม ๒. การพัฒนาชุมชน
๓. ความสามัคคี (กีฬาพื้นบ้าน) ๔. รณรงค์ครอบครัวอบอุ่น
๕. สร้างชุมชนปลอดยาเสพติด ๖. กีฬาสานฝันสร้างสรรค์เยาวชน
๗. สื่อสารปั้นกีฬาให้กับน้อง ๘. ส่งเสริมการออกกำลังกาย

นอกจากเยาวชนจะได้ร่วมกันค้นปัญหา คิดหนทางแก้ไขแล้วยังได้นำเสนอโครงการที่อยากได้ให้กับทีมผู้ประสานงาน ผู้นำชุมชนรับทราบ เพื่อจะได้หาโอกาสตอบสนองความต้องการของเยาวชน

+++++++++++++++++++++

.

โครงการสร้างเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะที่ ๒

เป็นขั้นตอนที่สืบเนื่องมาจาก AIC ระยะที่ ๑, งานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ก็ได้ร่วมกับ สสอ.สามชุก เสนอโครงการสร้างเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะที่ ๒ (ที่สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน) เข้าไปที่ สสส. โดยผ่านทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตฯอีกครั้ง

หลังจากได้รับการขัดเกลาโครงการฯ อยู่นานประมาณ ๓ เดือน ก็ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการระยะ ๒ ในลักษณะของ...การพัฒนารูปแบบพื้นที่การเรียนรู้นอกเวลาสำหรับเยาวชน...โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการในช่วง ตุลาคม ๒๕๕๒-มีนาคม ๒๕๕๓

วัตถุประสงค์

.

การจัดพื้นที่เรียนรู้นอกเวลาสำหรับเยาวชนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ...ให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงออกในกิจกรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนเอง โดยมีผู้ใหญ่จากองค์กรต่างๆ เป็นฝ่ายสนับสนุน....

แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบพื้นที่ฯ

.

จากเป้าหมายของแผนงานฯที่ต้องการให้เกิดกิจกรรมพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืน งานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชจึงได้นำองค์ประกอบในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจในระดับชุมชน มาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ คือการช่วยให้
๑. เยาวชนได้ทำสิ่งดีๆให้กับชุมชน
๒. เยาวชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่นอกครอบครัว
๓. ชุมชนมีวัฒนธรรมของการร่วมมือช่วยเหลือกัน
๔. ชุมชนมีสายสัมพันธ์ที่ดีมีความมั่นคง

จากแนวคิดสู่กระบวนการพัฒนาพื้นที่

.

นอกจากแนวคิดพืนฐาน ๔ ประการข้างต้นแล้ว ในการกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน ยังได้นำจุดแข็งจุดอ่อนของเยาวชน รวมทั้งทุนเดิม และอุปสรรคในพื้นที่มาหลักในการพิจารณาร่วมด้วยก็คือการช่วยให้..........
๑. เยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง
๒. เยาวชนมีความคิดริเร่มสร้างสรรค์
๓. เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
๔. เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

กระบวนการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้นอกเวลาสำหรับเยาวชน

.
๑. การพัฒนาองค์กรเรียนรู้ในหมู่บ้าน และศักยภาพของผู้นำเยาวชน/เครือข่าย โดย

๑.๑ ประชุมจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเยาวชน กำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ พร้อมสรรหาผู้ใหญ่ที่ปรึกษาแต่ละพื้นที่ รวมคณะกรรมการและที่ปรึกษา ๓๘ คน เพื่อเป็นทีมแกนนำเยาวชนในพื้นที่

๑.๒ อบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำและเครือข่ายเยาวชน จำนวน ๙๐ คนให้เอื้อต่อการสานต่อและขยายกิจกรรมในพื้นที่

๑.๓ ประชุมคณะกรรมการและที่ปรึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่างๆในแต่ละพื้นที่ อาทิ การออกกำลังกาย-เล่นกีฬา การเรียนรู้-ฝึกทักษะที่สนใจ การบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น


๒. การส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกโดยเปิดพื้นที่นอกเวลาให้กับเยาวชนใน ๓ ด้าน



๒.๑ กิจกรรมสันทนาการ เช่นการออกกำลังกายฟิตเนสที่ อบต.จัดให้ ๒ พื้นที่ การเล่นฟุตบอล วอลเลย์บอล ตระกร้อที่สนามโรงเรียน เล่นแบดมินตัน เปตองที่ลานเอนกประสงค์ และการขี่จักรยานของเครือข่ายครอบครัว เป็นต้น

๒.๒ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน เช่น ช่วยงานสาธารณกุศล ขึ้นทะเบียนผู้บริจาคเลือด การรักษาความสะอาดกำจัดขยะในที่สาธารณะ เป็นต้น

๒.๓ กิจกรรมเรียนรู้-ฝึกทักษะที่สนใจในกิจกรรมวันเด็ก ดอกไม้ประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์พื้นฐานและการสืบค้นข้อมูล ดนตรีไทย เป็นต้น



๓. การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่/องค์กร/เครือข่ายพันธมิตรในชุมชน ให้เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืนด้วยกิจกรรม

๓.๑ อบรมสานใยรักครอบครัว

จัดอบรมเยาวชนและผู้ปกครอง ๙๐ คน จาก ๔๐ ครอบครัว เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การสื่อสารสร้างสรรค์ บทบาทหน้าที่ครอบครัว ร่วมแก้ไขป้องกันปัญหาเยาวชน
๓.๒ ศึกษาดูงานชุมชนพัฒนาด้านเยาวชนต้นแบบ

เดินทางไปศึกษาดูงานชุมชนพัฒนาด้านเยาวชนต้นแบบ ใน ๒ พื้นที่ คือศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านบ่อมกรูดที่มีผลงานเด่นในด้านป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด-ทูบีนัมเบอร์วัน และเครือข่ายเยาวชนท่าวังตาลที่มีจุดเด่นในด้านการพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืน
๓.๓ กิจกรรมตลาดนัดเยาวชน


จัดตลาดนัดเยาวชน เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมานำเสนอผลการเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา เช่น มอบเกียรติบัตรเยาวชนเรียนดี เยาวชนดีเด่น ผูกข้อมือรับขวัญพาลูกหลานกลับเรือน เล่นดนตรีแข่งกีฬาแสดงความสามารถ และกีฬาเชื่อมความสามัคคี รวมทั้งเป็นถอดบทเรียนคืนข้อมูล ส่งมอบโครงการคืนสู่ชุมชน เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเปิดพื้นที่การเรียนรู้นอกเวลาสำหรับเยาวชน

๑. มีพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกในกิจกรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนเอง โดยมีผู้ใหญ่จากองค์กรต่างๆในชุมชน เป็นฝ่ายสนับสนุน
๒. ชุมชนมีกิจกรรมที่ตอบสนองตามนโยบายที่ส่วนภาครัฐกำหนดทั้งในส่วนของผู้นำชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และสถานีอนามัย หรือแม้แต่งานสุขภาพจิตเองก็สามารถบูรณาการต่อยอดโครงการเชิงรุกลงไปได้โดยไม่เพิ่มภาระงาน
๓. ลดปัจจัยเสี่ยงและปัญหาเยาวชนลงไปได้บางส่วน เนื่องจากช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สามารถดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงกลับเข้ามาสู่แนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที เยาวชนกลุ่มดีได้รับโอกาส และการเสริมสร้างพลังอำนาจในการเป็นผู้นำเยาวชนต่อไป แม้แต่กลุ่มที่มีปัญหาก็ได้รับความเข้าใจ เห็นใจ ให้โอกาสเข้าร่วมกิจกรรม

อุปสรรคและข้อเสนอแนะ

การเชื่อมต่อกับชุมชนยังไม่สมบูรณ์ อาจทำให้การสานต่อโครงการพัฒนาเยาวชนหยุดชงัก/ขาดช่วง เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมโครงการฯค่อนข้างจำกัด ดังนั้นงานสุขภาพจิต โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้พื้นที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเยาวชนอยู่ในขณะนี้
ไม่มีบทความ
ไม่มีบทความ